รวมภาพกิจกรรม

แสดงความคิดเห็น

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เมื่อครูขาดแคลน ..ครูขาดคุณภาพ.. คุณภาพเด็กจะเป็นอย่างไร?


เมื่อครูขาดแคลน ..ครูขาดคุณภาพ.. คุณภาพเด็กจะเป็นอย่างไร?
          ความสำคัญของครูกับการพัฒนาบุคลากรของชาตินั้น นับว่ามีความสำคัญยิ่ง ด้วยคุณภาพชีวิตเด็กคงไม่ใช่อยู่แค่ความรู้เท่าทันวิทยาการอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงการพัฒนาการทั้งด้าน ร่างกาย จิตใจ  อารมณ์ สังคม เป็น “คนดี คนเก่ง มีความสุข” เมื่อดูจากภารกิจของการศึกษาที่เป็นเครื่องมือพัฒนามนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ มีศักยภาพความพร้อมแตกต่างกันทั้งบริบทส่วนตัวและปัจจัยรอบข้างแล้ว การจะพัฒนาไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้อย่างเต็มตามศักยภาพที่แต่ละคนมีอยู่ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย จึงคิดว่าไม่น่าจะมีเครื่องมือ สื่อ หรืออุปกรณ์ใดที่จะมีประสิทธิภาพเกินครูไปได้
          แม้ทุกฝ่ายจะเข้าใจหรือรับรู้ถึงความสำคัญของครูกับการพัฒนาเด็กอย่างดียิ่งแล้วก็ตาม แต่ปัญหาการจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับครูก็ยังมีให้เห็นอยู่มากมาย ซึ่งปัญหาหลัก ๆ ที่เห็นอยู่ก็คงหนีไม่พ้น ปัญหาครูขาดแคลน และ ปัญหาครูขาดคุณภาพ นั่นเอง
          สำหรับปัญหาครูขาดแคลนนั้น พูดกันเมื่อไรก็จะเจอปัญหาทุกครั้ง เพราะเป็นปัญหาที่สะสมกันมานาน แต่ไร้การแก้ไขอย่างจริงจัง จนกลายเป็นดินพอกหางหมูใหญ่ขึ้นทุกขณะ แม้ขณะนี้โลกจะพัฒนาเข้าสู่ทศวรรษที่ 21 เป็นโลกยุคไร้พรมแดน เกิดความก้าวหน้าสารพัดด้าน แต่คุณภาพชีวิตเด็กไทยส่วนใหญ่ก็ยังต้วมเตี้ยมไปได้ไม่ถึงไหน ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานยังขาดความพร้อมอยู่โดยเฉพาะความพร้อมของจำนวนครูที่จะมาสอนเด็กนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากข่าวที่ เลขาธิการ กพฐ. ได้ออกมาบอกว่า ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ยังขาดแคลนครูสาขาต่าง ๆ กว่า 60,000 อัตรา ฟังแล้วแทบไม่น่าเชื่อว่านี่คือประเทศไทยที่ตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาบุคลากรของชาติให้เข้าสู่พลเมืองโลก แต่ยังขาดแคลนครูที่จะดำเนินงานอยู่มากมายขนาดนั้น
          เมื่อโรงเรียนขาดครูผู้สอน ย่อมส่งผล กระทบต่อคุณภาพเด็กและการดำเนินการจัดการศึกษาของโรงเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 13,000 แห่ง ที่ยังขาดแคลนครูอย่างหนักซึ่งความขาดแคลนที่ว่านี้คงไม่ใช่แค่ไม่มีครูพอสอนตามครบทุกสาขาวิชาเอก เท่านั้น แค่ขอให้มีครูสอนครบทุกชั้นก็ถือว่าเป็นบุญโขแล้ว ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา ด้วยจำนวนนักเรียนมีแต่จะเพิ่มขึ้นขณะที่จำนวนครูมีแต่จะลดลง ทำให้ครูมีไม่เพียงพอกับการสอนทุกวิชาเอก ซึ่งหากรวมปัญหาขาดแคลนครูในหลายลักษณะที่ว่านี้แล้ว เมื่อสำรวจเป็นรายโรงเรียน น่าจะขาดครูเป็นหลักแสนราย ด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าตอนนี้โรงเรียนขนาดใหญ่ที่พอมีกำลังด้านงบประมาณก็จะจัดหาครูอัตราจ้างเข้ามาแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว คงไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะแก้ไขด้วยวิธีดังกล่าวได้ นอกจากจะรอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือได้สถานเดียว
          จริงแล้วที่มาของปัญหาครูขาดแคลนก็ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรมากนัก ส่วนใหญ่ก็มาจากครูโรงเรียนขนาดเล็กขอย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งการย้ายที่ว่านี้ก็มีทั้ง การขอไปช่วยราชการก่อน และการโยกย้ายปกติประจำปี  ที่ในอดีตการขอย้ายจะไม่ยุ่งยากเช่นปัจจุบัน แค่มีเวลาปฏิบัติงานในพื้นที่ตามหลักเกณฑ์ คือ ย้ายภายในอำเภอเดียวกันใช้เวลาแค่ปีเดียว ระหว่างจังหวัดใช้เวลาแค่ 2 ปี ก็มีสิทธิยื่นเรื่องขอย้ายได้ และที่สำคัญหากมีเส้นสายด้วยแล้ว แค่พ้นทดลองราชการ 6 เดือน ก็สามารถขอไปช่วยราชการต่างโรงเรียนได้ จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมครูจึงไปกองรวมกันที่โรงเรียนในเมือง และโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่กันดารห่างไกลขาดแคลนครู พอมาถึงปัจจุบัน การขอไปช่วยราชการหรือการโยกย้ายอาจจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็ต้องมาเจอกับโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดเข้าให้อีก  ทำให้แค่ช่วง 3-4 ปี ของการดำเนินการ มีครูหายออกจากระบบเกือบแสนราย ยิ่งการดำเนินการช่วงแรกไม่มีการคืนอัตราให้  ก็เหมือนไปซ้ำเติมความขาดแคลนครูของโรงเรียนขนาดเล็กเข้าไปอีก หรือแม้แต่โรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองก็พลอยเดือดร้อนไปด้วยเช่นกัน
          เมื่อโรงเรียนมีครูไม่พอสอน และโรงเรียนต้องมาเจอสารพัดงาน ที่ต้นสังกัดหรือหน่วยงานนอกสังกัดส่งมาให้ดำเนินการ แถมมีกิจกรรม โครงการ ที่ดึงครูออกจากโรงเรียน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยแล้ว การพัฒนาเด็กก็เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น ครูที่พอมีอยู่หรือเหลืออยู่ ก็จะแก้ปัญหาโดยจัดสอนเฉพาะกลุ่มวิชาหลัก ๆ เพื่อให้เด็กอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น หรือไม่ก็แก้ปัญหาด้วยการรวมชั้นเรียนสำหรับนักเรียนระดับใกล้เคียง อะไรทำนองนั้น เมื่อสภาพการณ์เป็นไปเช่นนี้ความหวังที่จะเห็นเด็กได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพทุกด้านนั้นจึงเป็นไปได้แค่นโยบายที่อยู่ในตัวหนังสือเท่านั้น
          ส่วนการแก้ปัญหาครูขาดแคลนที่ดำเนินกันอยู่ในปัจจุบัน ด้วยวิธีการจัดหาครูอัตราจ้างรายเดือนเข้าไปทดแทนบางส่วนนั้น ก็คงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจริง ๆ เพราะเป็นการไปช่วยสอนแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งตามงบประมาณที่ได้รับมา ส่วนนี้หากมองถึงความต่อเนื่องในการพัฒนาเด็ก อาจเกิดปัญหาตามมาได้ เช่น ครูอัตราจ้างที่ต้องไปสอนเด็กชาวไทยภูเขา ซึ่งส่วนใหญ่ยังใช้ภาษาตามบรรพบุรุษ พูดภาษาไทยไม่ได้ ครูอัตราจ้างเข้าไปในพื้นที่ใหม่ในเวลา 3-4 เดือน เชื่อได้เลยว่าจะไม่สามารถพูดภาษาท้องถิ่นของชาวไทยภูเขาได้เช่นกัน ทำให้การสื่อสารกับการสอนเด็กเป็นไปด้วยความยากลำบากเป็นแน่ แต่พอครูเริ่มรู้และพูดภาษาท้องถิ่นสื่อสารกับเด็กได้บ้าง ก็หมดงบประมาณการจ้าง ต้องรองบประมาณใหม่และจ้างครูอัตราจ้างคนใหม่ไปแทน ปัญหาเดิมก็จะวนกลับมาให้เห็นเช่นนี้อีก จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเด็กที่เรียนอยู่ชั้น ป.3 เป็นต้นไปจำนวนไม่น้อยที่ยังอ่านไม่ได้ หรือไม่คล่องอยู่ สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากปัจจัยที่ว่ามาแล้วนั่นเอง
          ส่วนปัญหาคุณภาพครู ในยุคปัจจุบันนี้ ถือว่าเป็นปัญหาแทรกซ้อนเข้ามาส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับเด็กได้ไม่น้อยเช่นกัน ด้วยครูเก่าที่ว่ามาจากผู้เรียนเก่ง มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นครูตั้งแต่แรกเริ่มและมีประสบการณ์จัดการเรียนรู้ เริ่มหมดวาระการดำรงอยู่ในอาชีพราชการด้วยการเกษียณอายุราชการทั้งภาคปกติและเออร์ลี่รีไทร์ ปีละเป็นหมื่นคน ส่วนที่เหลือก็มีจำนวนไม่น้อยที่เริ่มอ่อนล้ากับจำนวนงานที่มีเพิ่มมาให้ทำมากกว่างานสอน หรือครูบางคนก็ก้าวได้ไม่ทันกับวิทยาการ เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงยังคงใช้ประสบการณ์สอนแบบเดิม ๆ อยู่ ส่วนครูที่บรรจุใหม่ จำนวนไม่น้อยมาจากกลุ่มที่ไม่ได้สนใจวิชาชีพครูมาแต่แรก แต่ด้วยไม่สามารถหาที่เรียนตามความสนใจได้ที่สุดก็มาลงที่ครู จึงขาดอุดมการณ์และมีเจตคติเกี่ยวกับวิชาชีพครูในทางบวกไม่มากนัก ยิ่งหากไม่สนใจกับการพัฒนาตนเองในสาขาวิชาชีพนี้ด้วยแล้ว การจัดการเรียนรู้ก็จะกลายเป็นการสอนตามตำรา หรือสอนเนื้อหาในหนังสือไปในที่สุด
          เมื่อการจัดการศึกษาของชาติ แค่จะหาผู้ที่จะเป็นผู้นำพาพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ก็ยังมีปัญหาอยู่มากมายตั้งแต่แรกเริ่มเสียแล้ว ซึ่งปัญหาที่ว่านี้ สำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่ ในเมืองก็คงพอทำเนา เพราะแม้จะขาดแคลนครูอยู่บ้างก็คงพอมีรายได้ของโรงเรียนมาจัดจ้างครูได้เอง หรือปัญหาคุณภาพครูก็ยังพอหาทางพัฒนาเพิ่มเติมกันได้ แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งเป็นสถานที่เรียนรู้ของลูกหลานผู้คนระดับรากหญ้าแล้วคงยากแก่การแก้ไขด้วยตนเอง ทั้งปัญหาขาดแคลนครูและครูขาดคุณภาพ ด้วยไม่มีปัจจัยเพียงพอนั่นเอง ทำให้ปัญหาจึงยังคงอยู่กับโรงเรียน โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนครู ที่บางโรงเรียนมีครูคนเดียวต้องสอนครบทุกชั้นทุกวิชา หรือครู 1 คน ต้องสอนหลายชั้น  หรือหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทำให้โอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้หรือได้รับการพัฒนาด้านต่าง ๆ อย่างเต็มศักยภาพเป็นไปได้น้อย จึงไม่ไปต้องสงสัยเลยว่าทำไม ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาโดย สมศ.ในรอบแรกจึงออกมาว่ามีโรงเรียนที่ยังอยู่ในอาการโคม่ามีมากกว่า 15,000 แห่ง ถึงแม้ว่าช่วงหลังจะสามารถพัฒนาจนผ่านการประเมินได้บ้างแต่ก็คงไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนเหล่านั้นสามารถพัฒนาเด็กจนเกิดคุณภาพตามมาตรฐานกลาง ที่กำหนดไว้ แต่น่าจะเป็นการผ่านตามบริบทกับปัญหาที่ประสบอยู่มากกว่า
          ส่วนนี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หน่วยงานรวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ไม่ใช่คิดแต่จะเดินไปข้างหน้าอย่างเดียว ด้วยเด็กส่วนใหญ่ของประเทศยังต้องอาศัยเรียนอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก หากโรงเรียนขาดแคลนครูผู้สอนเด็กเหล่านั้นจะเดินตามทันได้อย่างไร  ยิ่งเป้าหมายการเดินแบบก้าวกระโดด มุ่งสู่สากล แต่เด็กส่วนใหญ่ขาดพื้นฐานแม้แต่การเดินแล้วจะก้าวกระโดดทันเด็กในเมืองได้อย่างไร หากคิดพัฒนาไปข้างหน้าจนลืมมองข้างหลังการเกิดช่องว่างในคุณภาพชีวิตเด็กในเมืองกับเด็กชนบทก็ยิ่งจะกลายไปเป็นปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้ห่างกันมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เข้าไปอีก ซึ่งการที่จะแก้ปัญหาครูขาดแคลนที่ว่านี้ ทุกฝ่ายจะต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า “ครูยังเป็นปัจจัยหลักและมีความสำคัญยิ่งกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กอยู่” และที่สำคัญต้องเข้าใจถึงบริบทการปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ไม่ใช่มองไปคนละทิศละทางอย่างที่เป็นมา ตัวอย่างเช่น เรื่องของจำนวนครู ซึ่งทาง กพร.  ก็ยังมองแต่ในภาพรวม จึงเห็นว่าครูในปัจจุบันมีจำนวนเพียงพอ ทั้งนี้ก็ด้วยไปยึดอยู่กับเกณฑ์ เอ ดี บี ที่ใช้อัตราส่วนครูต่อเด็ก 1 : 25 คน  ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้จะไม่สามารถใช้ได้กับโรงเรียนในแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะหากคิดตามสูตรดังกล่าวนี้แล้ว เกิดโรงเรียนนั้นมีเด็กแค่ 50 คน มีครู 2 คน จะถือว่าครูพอดีเกณฑ์ แต่ในทางปฏิบัติจริงโรงเรียนนั้นต้องเปิดสอน 6 ชั้นและทุกชั้นจะต้องสอนครบทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ กับอีก 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน นี่ขนาดยังไม่รวมถึงงานอื่น ๆ ที่ส่งมาให้ทำ หรือ ถูกสั่งให้ออกไปอบรม สัมมนา ร่วมกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วครู 2 คนจะปฏิบัติงานอย่างไร เพราะบางโรงเรียนทุกวันนี้จะหาครูเหลือเฝ้าเด็กก็แทบจะไม่มี หรือกรณีที่ว่าครูส่วนใหญ่ไปกองรวมกันอยู่ในเมืองจนเกินเกณฑ์ก็จริง แต่การที่จะเกลี่ยครูที่ตำแหน่งและอัตราเงินเดือนอยู่โรงเรียนในเมืองไปแล้วให้ไปอยู่โรงเรียนกันดารห่างไกล ถามว่าจะทำได้อย่างไร หรือใครจะกล้าทำ เพราะครูไม่ใช่เม็ดดิน เม็ดทราย ที่อยากจะกวาดไปอยู่ตรงไหนก็ได้เสียเมื่อไร หรือหากกล้าทำก็คงถูกฟ้องร้องกันไม่เว้นแต่ละวันเป็นแน่
          เมื่อเป็นเช่นนี้การที่จะมัวให้โรงเรียนขาดแคลนครูต้องรอให้ครูจากโรงเรียนที่มีครูเกินเกณฑ์เกษียณอายุราชการแล้วค่อยตัดตำแหน่งไปให้นั้นคงไม่ทันเวลา เพราะเด็กที่ต้องผ่านระบบการศึกษาไปเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นแต่ละปีมีอยู่หลายล้านคน การที่ปล่อยให้พื้นฐานการเรียนรู้หรือพื้นฐานคุณภาพชีวิตถูกพัฒนาเป็นไปตามยถากรรมเช่นนี้ อนาคตของบุคลากรของชาติและประเทศชาติ จะเป็นเช่นไร
          ดังนั้นการแก้ปัญหาครูขาดแคลนจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ภาครัฐจะต้องถือว่าเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้น ๆ ที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน อย่ามัววิตกเกินเหตุว่าหากเพิ่มจำนวนครูแล้ว งบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับมาจะหมดไปกับเงินเดือนของครูจนไม่เหลืองบลงทุน เพราะงานจัดการศึกษาหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กนั้นครูคือผู้ดำเนินการทุกส่วนถึงตัวเด็กโดยตรง ไม่เหมือนกับข้าราชการประเภทอื่น ๆ ที่ภารกิจอาจแตกต่างไป ดังนั้นงบประมาณที่นำมาจัดหาครูและพัฒนาครูนั่นแหละคือ การลงทุนเพื่อการศึกษาที่ตรงจุดที่สุดแล้ว จะบอกให้.
          กลิ่น สระทองเนียม

          ที่มา: http://www.dailynews.co.th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น